การทำเว็บไซต์เป็นหนึ่งในงานที่ผมรักมากที่สุดครับ ผมชอบนั่งออกแบบ นั่งเขียนโค้ด รู้สึกดีใจเวลาเห็นผลงานของเราออกไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ และยิ่งรู้สึกดีใจมากขึ้นในยามที่ลูกค้าปลื้มกับงานที่เราทำให้ ผมเรียนจบออกมาก็มาเข้าสู่วงการการเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์แบบเต็มตัวเลยครับ ผ่านมาเกือบร่วมสิบปีแล้วที่ได้ใช้ชีวิตและให้งานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน วันนี้ผมเลยอยากจะมาแนะนำเครื่องไม้เครื่องมือที่ผมใช้ในการออกแบบเว็บไซต์มาฝากครับ
[thetext]เริ่มต้นตั้งแต่การนั่งคิดไอเดีย[/thetext]
สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำเว็บไซต์คือ การหาไอเดียมาออกแบบเว็บครับ (ผมไม่รู้คนอื่นจะเป็นเหมือนผมไหมนะ แต่สำหรับผมแล้ว นี่คือขั้นตอนที่แบบว่ากินเวลาเยอะมากที่สุดเลย) ผมจะเริ่มต้นจากการหา Reference งานก่อน ดูว่าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราจะทำมันเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะเริ่มต้นด้วยการร่างไอเดียลงบนกระดาษครับ เขียนคร่าวๆเป็น Wireframe สำหรับขั้นตอนนี้เครื่องมือที่ผมใช้ก็จะเป็นสมุดเปล่าๆไร้เส้น ปากกาสี ดินสอ ประมาณนี้ครับ
[thetext]ทำ Mock Up ผ่าน Photoshop ร่วมกับ 960 Grid[/thetext]
พอได้ไอเดียแล้วผมก็จะเปิดโปรแกรม Photoshop ขึ้นมาครับ เพื่อประกอบรูปร่างจากไอเดียในกระดาษมาเป็น Digital File โดยผมจะออกแบบผ่าน 960grid ครับ ผมแนะนำสำหรับคนที่ทำเว็บให้เลือกใช้ Grid เหล่านี้ประกอบการร่างแบบนะครับ หลายคนที่ออกแบบมาโดยไม่ได้กำหนด Grid พอส่งต่อให้คนที่ต้องแปลง PSD to HTML มันปวดหัวเสียเหลือเกิน ฮ่าๆ สำหรับ Grid ที่ว่านั้น เราสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้จากลิงค์ที่ผมแปะนั่นแหล่ะครับ แล้วจะเห็น ปุ่มดาวน์โหลด ก็เลือกโหลดมา มันจะให้เป็น Template มาสำหรับเปิดด้วยโปรแกรมต่างๆ สำหรับเราถ้าใช้ Photoshop ในการทำงานออกแบบก็เลือกไฟล์สำหรับ Photoshop ครับ โดย Grid นี้จะให้มาสามตัวคือแบบ 12 Columns, 16 Columns และ 24 Columns แต่ละตัว ก็จะมีการแบ่ง Grid เป็นความถี่ที่ไม่เท่ากัน ก็ลองเลือกดูครับว่าเราชอบแบบไหน
[thetext]เลือกชุดสีที่ต้องการ[/thetext]
โจทย์ที่ท้าทายไม่เบาในการทำเว็บ ก็คือการเลือกชุดสีครับ ผมจะมีวิธีเลือกสีที่ต้องการอยู่คร่าวๆ ก็คือ หนึ่ง เลือกสีจากรูปภาพที่เป็น Main หลักของเว็บไซต์ สองเลือกจากชุดสีที่มีในเว็บไซต์ pattern สี อย่างเช่นเว็บ kuler ของค่ายอโดบี หรือเว็บ colourlovers ที่มีเว็บสวยๆพร้อมกับตัวอย่างสีมาให้ด้วย
[thetext]เลือกรูปภาพจากเว็บ Stock[/thetext]
ส่วนใหญ่แล้วรูปภาพประกอบในกรณีที่ลูกค้าไม่มีรูปมาให้ ผมจะทำการเลือกรูปภาพจากเว็บ stock ครับ ซึ่งก็มีหลายค่ายให้บริการ โดยค่าลิขสิทธิ์รูปก็แตกต่างกันออกไป หลักๆที่ผมดูก็จะมี istockphoto (ตัวนี้จะแพงมากแต่รูปก็สวยเวอร์) shutterstock และ depositphotos (ผมใช้ตัวนี้ซะส่วนใหญ่ เพราะรูปสวย ราคาไม่แพงจนเกินไป)
หรือจะลองใช้รูปภาพฟรีๆก็มีหลายเว็บนะครับ เท่าที่ผมรู้จักนั้นผมเคยเขียนไว้ในบทความนี้แล้วครับ ลองอ่านดูเนาะ
[thetext]เริ่มแปลง PSD เป็นเว็บอย่างง่ายด้วยภาษา HTML , CSS , JS[/thetext]
พอออกแบบเสร็จแล้ว ผมก็จะเริ่มแปลงดีไซน์ให้เป็นเว็บแล้วครับ เครื่องมือที่ใช้ก็จะประกอบไปด้วย Text Editor Tool ที่ผมใช้อยู่ตอนนี้คือ Komodo Edit ครับ เป็นโปรแกรมสำหรับเขียนโค้ดที่ดีมาก และฟรีด้วย แต่ถ้าเพื่อนๆถนัดพวก Dreamweaver, Sublime หรือตัวอื่นๆก็ใช้กันไปตามความถนัดเลยครับ
ด้วยความที่ผมทำเว็บให้มันเป็นแบบ Responsive ผมก็จะใช้ framework มาช่วยให้การทำงานเร็วขึ้นกว่าเดิมครับ Gumbyframework เป็นตัวที่ผมใช้อยู่ เหตุผลที่เลือกใช้เพราะว่าหนึ่งมันง่าย สองมันรองรับ IE8+ ครับ ซึ่งตอนนี้มี Framework เกิดมามากมายให้เราได้เลือกใช้ครับ ไม่ว่าจะเป็น Bootstrap ที่คนก็ใช้งานกันมากมายมหาศาล
สำหรับลูกเล่นพวก CSS ต่างๆนั้น ส่วนใหญ่ผมก็เขียนเอาเองครับ แต่บางทีก็มีเอามาจากพวก Opensource ต่างๆด้วย พวกนี้ลอง google ดูได้
และด้านภาษา javascript ที่แบบเจ๋งๆ ผมจะนำมาจากเว็บไซต์นี้ครับ jquery-plugin เว็บนี้รวบรวมไว้หลายๆหมวดหมู่ให้เราเลือกไปใช้ได้อย่างสบายๆ
[thetext]ทำ Slider ด้วย Flexslider[/thetext]
เว็บทุกวันนี้เกือบทุกเว็บจะมี Slider มาเกี่ยวข้องครับ และมันก็มีให้เลือกใช้เยอะมาก ผมเลือก Flexslider เป็นตัวหลักในการทำ Slider ด้วยเหตุผลที่ว่ามันฟรี และตอบโจทย์การทำงานที่ผมทำทุกอย่างเลยครับ ตัวรองลงมาคือ Royalslider ตัวนี้เสียตังค์ครับ แต่ก็คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปจริงๆ
[thetext]ทำเชื่อมกับระบบฐานข้อมูล ด้วย WordPress[/thetext]
ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ ผมจะเอาเว็บ HTML ง่ายๆนี่แหล่ะครับมาทำให้มันมีระบบหลังบ้าน ที่ลูกค้าสามารถอัพเดท แก้ไข ข้อมูลไดอย่างง่ายดาย และแน่นอนเครื่องมืออันทรงพลังที่ผมหลงรักหัวปักหัวปำก็คือ WordPress นี่แหล่ะครับที่มาเป็นพระเอกในขั้นตอนนี้ โดยการทำธีม WordPress นั้นโดยทั่วไปก็ไม่ได้ยากมากครับ ถ้าอยากรู้วิธีทำก็สามารถหาในโลกออนไลน์ได้เยอะแยะเลยครับ แต่ถ้าใครอยากให้ผมสอนให้ก็ติดต่อมาได้นะครับ ถ้าผมมีเวลาก็จะสอนให้ ฮ่าๆ
และทั้งหมดนี้ก็คือเครื่องมือหลักๆที่ผมใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ครับ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างนะคร้าบ แล้วเจอกันใหม่ในบทความตอนหน้า มาลุ้นกันว่าผมจะเขียนเรื่องอะไร ฮ่าๆ
6 Responses
จะสอนเขียนธีม WordPress ให้ผมบ้างไหมครับ
ฮ่าๆ ถ้ามีเวลาก็จะอนครับ แต่ตอนนี้คิวแน่นมากเลยคับ
จะสอนเขียนธีม WordPress ให้ผมบ้างไหมครับ
ที่พี่กล่าวมาทั้งหมด สามารถใช้ได้ดีในปัจจุบันด้วยหรือเปล่าครับผม ผมสนใจด้านนี้น่ะครับผม
มีบางอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลาครับ
อย่างพวกเฟรมเวิร์ค ตอนนี้ผมใช้ Boostrap เป็นหลัก
ส่วนพวกระบบข้างในก็ยังใช้ WordPress แต่ใช้ Elementor มาช่วยในการจัดวางเนื้อหาครับ และ Slider ก็ใช้ของ Revolution slider หรือ Smart Slider ครับ
ขอบคุณมากครับผม