คุณทำงานอะไรครับ? คำถามนี้ผมจะได้ยินบ่อยมากในช่วงแรกๆที่ผมย้ายที่อยู่มาอยู่อพาร์ตเมนท์ใหม่ ก่อนที่จะตอบคำถามของพวกเค้า ผมถามกลับไปก่อนว่า ทำไมหรือครับ? และเค้าก็ตอบกลับมาว่า เพราะว่าผมสังเกตว่าผมจะเห็นหน้าคุณมาใช้บริการวินมอไซด์ประมาณช่วงบ่ายเกือบทุกครั้ง แถมแต่งตัวก็ดูสบายๆ กางเกงขาสั้น สะพายกระเป๋า แต่บางวันก็แต่งตัวดูดีผูกไทด์ใส่เสื้อเชิ๊ต เลยสงสัยว่าทำงานอะไรกันแน่
ผมเลยตอบกลับไปครับว่าผมเป็น Web Developer และแน่นอนว่าพวกเค้าก็อยากรู้ว่ามันคืออะไร แล้วไม่ต้องไปทำงานแต่เช้าหรือ? และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของบทความนี้ครับ
สำหรับคนที่ติดตามอ่านบทความของผมก็น่าจะทราบกันดีแล้วอยู่แล้วนะครับว่าผมทำงานเป็นคนออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ และทำในฐานะฟรีแลนซ์คนหนึ่งครับ ดังนั้น Life Style การทำงานของผมจึงไม่ได้พึ่งอยู่กับองค์กร ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อ Uniform ยกเว้นวันไหนที่ต้องมีประชุมงานพบปะลูกค้า ผมก็จะแต่งตัวให้เกียรติกับลูกค้าของผมครับ
อาชีพฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่อิสระนะ มันเหมาะกับ Life Style ประเภทคนที่ไม่ชอบอยู่กับกรอบ เหมือนชีวิตนี้เราออกแบบเองได้ แต่อาชีพนี้ก็ต้องอาศัยความมีวินัยสูงมากครับ การใช้ชีวิตต้องตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท เพราะหากไม่มีงาน ก็ไม่มีเงินนั่นเอง
แล้วถ้าอยากเป็น Freelance Web Developer ต้องทำอย่างไร?
เอาละครับ มาถึงคำถามชี้นำ ที่ผมอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับคนที่อยากจะก้าวเข้ามาสู่แวดวงนี้ ว่าถ้าคุณอยากจะมาทำงานแนวนี้ คุณต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง และจะประสบพบเจอกับอะไรบ้าง
[thetext]1. ค้นหาตัวเองก่อนว่ารักอาชีพนี้หรือเปล่า[/thetext]
อาชีพ Web Developer เป็นอาชีพที่ผสมผสานทั้ง Web Designer + Web Programmer เข้าด้วยกัน มันค่อนข้างมีแรงกดดัน (แต่ผมชอบเรียกว่าเป็นเรื่องท้าทายมากกว่า จะได้ไม่ฟังดูโหดร้าย) เพราะอาชีพนี้ต้องอาศัยพลังจินตนาการเก่ง แต่ต้องจินตนาการอย่างมีแบบแผนให้ตอบโจทย์ แถมเทคโนโลยีด้านนี้ก็วิ่งไปเร็วติดจรวจ คุณต้องขยันอัพเดทความรู้ตลอดเวลา ย้ำ! ตลอดเวลาครับ ดังนั้นถ้าหากว่าไม่ได้รักในอาชีพนี้ คุณอาจจะเหนื่อยได้ง่าย กับกระแสเทคโนโลยีหรือการออกแบบที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วจนเกินไป ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความรักในสิ่งที่ทำ มันจะทำให้เรามีแรงผลักดันในการทำงาน และถ้าคุณรักมันมากๆ ในที่สุด คุณก็ค้นพบว่า คุณใช้ชีวิตร่วมกับการทำงานได้อย่างลงตัว ประหนึ่งว่าไม่รู้สึกว่ากำลังทำงานเลย
[thetext]2. ศึกษาให้รอบด้านว่าสายงานนี้ต้องมีความรู้อะไรบ้าง[/thetext]
อาชีพนี้ต้องมีความรู้ทั้งศาสตร์ด้านศิลปะและเทคโนโลยีครับ สำหรับผมเองนั้น ตอนเริ่มต้นก้าวเท้าเข้ามายังสายงานนี้ ผมเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับการดีไซน์ ด้วยการนั่งดูงานเยอะๆครับ ดูงานของนักออกแบบเก่งๆ ในระยะแรก ผมดูแล้วผมก็หัดทำตามครับ พูดง่ายๆ ว่าทำให้เหมือนเป๊ะๆ เพื่อฝึกทักษะการใช้เครื่องมือว่า ถ้าเราอยากได้แบบเค้า เราต้องมีความรู้อะไรบ้างต้องทำอะไรบ้าง มันคือกระบวนการเรียนรู้ที่ผมเรียกว่า เรียนรู้จากการลอกเลียนแบบครับ การลอกเลียนแบบไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะครับ แต่ต้องลอกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่ลอกให้เหมือนเป๊ะ แล้วเอาไปขาย อันนี้ไม่สนับสนุนครับ ผมเองก็นั่งทำอยู่เยอะครับ อยากรู้ว่าเอ เวลาเค้าทำขอบมีเงาแบบนี้ เค้าทำอย่างไร เขียนโค้ดอย่างไร ทำ Slider แบบนี้ต้องศึกษาจากไหน
องค์ความรู้ที่จำเป็นต้องมี “ย้ำ” อีกครั้ง ว่า “จำเป็นต้องมี” ก็คือ หลักการออกแบบเว็บไซต์ คุณต้องเข้าใจและสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมถึงมีการออกแบบแบบนี้ ทำไมถึงต้องเลือกใช้สีนี้ ทำไมถึงวางองค์ประกอบชิ้นนี้ที่ตำแหน่งนี้ (มันสำคัญมากๆ เมื่อคุณไปนำเสนองานออกแบบให้กับลูกค้า เค้าจะถามคุณแน่ๆ ว่าทำไมถึงนำเสนอแบบนี้) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะมันเป็นเหมือนกับการเรียนจิตวิทยาแบบหนึ่ง ต้องอาศัยการฝึกฝนครับ
ต่อมาคือเรื่องของเครื่องมือ โปรแกรมหลักๆที่ผมใช้ในการออกแบบคือ Photoshop ครับ จริงๆก็มีเครื่องมืออื่นๆเช่น Firework แต่ผมถนัด Photoshop มากกว่า ผมเริ่มต้นด้วยการนั่งคิดไอเดีย ร่างบนกระดาษคร่าวๆ แล้วทำเป็นรูปร่างลงสีจัดข้อความใส่รูปด้วยโปรแกรมนี้ การใช้เครื่องมือเป็นสิ่งที่สำคัญนะครับ เพราะมันทำให้ลูกค้าได้เห็นภาพของไอเดียที่เราคิดนั่นเอง
อันดับต่อมาคือเรื่องของเทคโนโลยี ภาษาที่ใช้ ก็จะมี HTML, CSS, Javascripts แล้วก็พวกภาษา Web Programming อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะไปสายไหน อย่างผมก็เน้น PHP ครับ แล้วก็มีภาษาฐานข้อมูลคือ MySQL หลักๆ เว็บที่ผมพัฒนาก็จะมีภาษาพวกนี้เป็นเบสอยู่แล้ว
[thetext]3. หาประสบการณ์จากการลองงานจริง[/thetext]
การเรียนรู้ที่มีค่าที่สุดคือการเรียนรู้จากการได้ลองทำงานจริงๆครับ ผมมีประสบการณ์มาแล้ว การนั่งออกแบบเองโดยเราเป็นคนกำหนด มันก็จะสนุกตรงที่เราเป็นผู้ควบคุมเกมส์ แต่เมื่อคุณได้ทำงานจริงๆ คุณจะทำงานร่วมกับคนอื่น มีการรับฟังแนวความคิดของคนอื่น แล้วเอามาผสมผสานกับสิ่งที่เรามี เพื่อทำงานนั้นให้ออกมาได้ตอบโจทย์มากที่สุดครับ
หากว่าคุณยังไม่มีงานจริงๆ คุณเริ่มต้นได้จากการลองงานแบบอาสาสมัครก่อนก็ได้ครับ เช่น ทำเว็บให้โรงเรียนขยายโอกาส หรือทำให้องค์กรเพื่อสังคมก็ได้ ณ จุดนี้สิ่งที่เราต้องการคือประสบการณ์ครับ ผมเองก็เริ่มต้นจากการอาสาทำเว็บให้หน่วยงานที่ผมรู้จักแบบฟรีๆเหมือนกัน จากนั้นก็ค่อยๆขยายตัวออกมารับทำเป็นอาชีพครับ
[thetext]4. สร้างผลงานให้โดดเด่น ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้[/thetext]
เมื่อมีโอกาสได้รับงานจากลูกค้ามาทำ สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องตระหนักนั่นก็คือ “เราคือคนที่ลูกค้าไว้วางใจให้เราไปช่วยเหลือองค์กรของเค้า” ในวงการนี้ไม่ใช่มีแค่คนสองคนนะครับที่ทำงานแบบเรา แต่มีเป็นล้าน แล้วลองคิดดูสิครับว่า ทำไมเค้าถึงเลือกเรา ไม่ใช่ว่าเค้าไม่มีตัวเลือกนะครับ แต่เพราะเค้า “ศรัทธา และคาดหวัง” จึง “ฝากความหวัง” ไว้กับเรา เราคือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการช่วยเหลือองค์กรลูกค้าอย่างมากเลยนะครับ
Master Piece for Everything You Have Done. ทำทุกอย่างให้เป็นผลงานชิ้นเอก แม้มันจะเหนื่อยกว่าเดิม แต่ผลตอบแทนที่ตามมา มันก็หอมหวานไม่แพ้กันครับ เพราะมองในระยะยาวถ้าเราทำงานให้ดี ลูกค้าก็ชอบและเค้าก็เต็มใจจะแนะนำ บอกต่อ การตลาดแบบ viral ปากต่อปาก เป็นการตลาดที่เจ๋งที่สุดแล้วครับ
[thetext]5. นำเสนอตัวเองให้โลกได้รับรู้[/thetext]
อาชีพฟรีแลนซ์ คุณจำเป็นต้องรู้จักโปรโมทตัวเองครับ เก่งแต่อยู่ในหลืบในมุมที่ไม่มีใครเห็น แบบนี้ก็อยู่ยากนะครับ เพราะไม่มีใครรู้ว่าคุณทำอะไรได้บ้าง อย่าได้เขินอายที่จะบอกกับชาวโลกให้รู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง มันไม่ใช่เรื่องที่เราโอ้อวดครับ แต่เราบอกในสิ่งที่เราทำได้จริงๆ และเราก็ยินดีที่จะทำมันด้วย หากคุณออกแบบได้แบบที่ใครเห็นจะต้องร้องว้าว ก็ประกาศไปเลยว่าถ้าอยากร้องว้าว ให้วิ่งเข้ามาหาผม ฮ่าๆ
หลักการที่ผมใช้ก็เป็นวิธีง่ายๆครับ อย่างแรกก็คือสร้างพื้นที่ให้ตัวเองก่อน อันได้แก่ เว็บไซต์ของตัวเอง พอร์ตโฟลิโอของตัวเอง แล้วก็อัพเดทมันครับ อย่างเว็บผม ผมก็พยายามอัพเดทอยู่เรื่อยๆ พยายามนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาแชร์มาเล่าสู่กันฟัง ส่วนพอร์ตโฟลิโอของผม นอกจากจะไว้ในเว็บส่วนตัว ผมก็สร้างในเว็บดังๆของต่างประเทศด้วย เพื่อให้คนทั่วโลกได้เห็นผลงานเรามากขึ้นครับ
[thetext]6. กล้าที่จะเผชิญหน้ากับอุปสรรค[/thetext]
อาชีพทุกอาชีพมีเรื่องท้าทายในตัวมันเองครับ ยิ่งเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ยิ่งท้าทายเยอะครับ อย่างที่เค้าบอกว่า High Risk High Returen เสี่ยงมากก็ได้มาก อย่างคนมองว่าฟรีแลนซ์ได้มาซึ่ง Life Style ที่ออกแบบเองได้ แต่คุณก็ต้องกล้าเสี่ยงที่จะทำงานอย่างมีระเบียบวินัยมากขึ้น จริงๆแล้ว ผมว่าเราทำงานกันหนักนะครับ (หมายถึงเมื่อตอนทำงานจริงๆ) เพราะคุณต้องเริ่มต้นทำอะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเป็นฝ่ายการตลาดเอง บริหารเอง ทำบัญชี ประชุมงาน เยอะครับ
แต่เรื่องท้าทายที่สำคัญนั่นก็คือ “คำวิจารณ์” ครับ หลายคนกลัวคำวิจารณ์ จริงๆให้เรามองว่ามันคือโอกาสที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ปรับปรุงตัวครับ คำวิจารณ์ที่ดีคือคำวิจารณ์ที่มาพร้อมกับเหตุผล เช่น ใช้สีนี้ไม่โอเคนะ เพราะดูแล้วทำให้อ่านยาก เมื่อจ้องนานๆ จะทำให้คนอ่านล้าสายตาได้ แบบนี้ก็ทำให้เรารู้แล้วว่า ต่อไปอย่าเลือกสีแบบนี้ เพราะอะไร แต่ถ้าคำวิจารณ์ประเภท ไม่สวย ไม่เอา ไม่ชอบ แต่ไม่บอกเหตุผล อันนี้ก็ยากครับ สำหรับผม ผมยอมรับคำวิจารณ์ได้ แต่ต้องวิจารณ์มาพร้อมกับเหตุผลด้วยว่าทำไมถึงว่าไม่สวย ถึงไม่เอา ถึงไม่ชอบ ผมจะได้ปรับปรุงให้ได้อย่างที่ต้องการครับ
[thetext]7. บทสรุป[/thetext]
ผมเองรู้ตัวว่าผมเป็นคนเขียนบทความแล้วมันมักจะยาวๆมากๆ ทั้งๆที่ก็รู้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบอ่านอะไรที่มันยาวมากนัก แต่มันก็คือสิ่งที่ผมอยากจะสื่ออยากจะบอกครับ เอาให้มันกระชับมากไปก็ขาดสีสันเรื่องรายละเอียด ฮ่าๆ เอาเป็นว่า ถ้าหากอยากจะมาเป็น Freelance Web Designer ก็นี่แหล่ะครับ คือสิ่งที่ผมได้ทำมา และสรุปมาเป็นหัวข้อหลักๆ ว่ามันไม่ได้ง่าย สวยหรูเหมือนที่ทุกคนคาดหวัง แต่มันก็ไม่ได้น่ากลัวจนเกินกว่าที่ได้ลองทำครับ ถ้าคุณคิดอยากมาสายนี้ ณ ตอนนี้ ผมมีข้อแนะนำว่า “ทำ” เลยครับ ทำตอนนี้เลย :) ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันจนจบนะครับ หากมีความเห็นอะไรก็คอมเมนต์ได้ครับ