May
ออกแบบ “เรียบง่าย” คืออะไรกันแน่?
Category: Blog / 3,551 viewsหากว่าคุณเคยคุยงานกับบรรดานักออกแบบเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งถ้าคุณเป็นนักออกแบบเอง คำว่าเรียบง่าย หรือ Simple น่าจะผ่านหูผ่านตาคุณบ้างนะครับ เชื่อเลยว่านักออกแบบทุกคนจะพากันบอกว่า ความเรียบง่ายเป็นสิ่งที่สำคัญ ไอ้เจ้าคำว่า “เรียบง่าย” นี่แหล่ะครับ ที่ทำให้หลายๆคนพากันงงๆ ว่าเรียบง่ายที่ว่าเนี่ย มันต้องยังไงถึงจะเรียกว่าเรียบง่าย?
แล้วคำว่า มีอย่างสมควรมีนี่คืออะไรกันอีกล่ะ? เรามีวิธีการคิดครับ
บางครั้งเราจำเป็นต้อง “มีบางอย่าง” เพื่อให้เว็บหรือการออกแบบของเราสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าจะให้นิยามโดยสมบูรณ์มากขึ้น ก็ต้องบอกว่า “ความเรียบง่าย” คือการมีอย่าง “เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร สื่อถึงอะไร มีไว้ทำไม ใช้งานอย่างไร และทำอะไรกับมันได้บ้าง”
ดังนั้น การที่สักแต่จะตัดโน่นตัดนี่ออก โดยไม่ได้คำนึงว่า สิ่งที่ตัดออกเนี่ย มันเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของเว็บหรือเปล่า ก็ไม่ใช่นะครับ หลักการคิดเพื่อการออกแบบที่เรียบง่าย จะมีหลักการหลักๆดังนี้ครับ
- ใช้ไอเดียหลักอยู่ไอเดียเดียว (เน้นๆไอเดียนั้น ไม่เอาไอเดียมามั่วกันสะเปะสะปะ)
- มีค่าพอให้ใช้เวลาอยู่ด้วย (อย่าทำให้ลูกค้าเสียเวลากับสิ่งที่ไม่จำเป็น)
- การออกแบบมีความเสมอต้นเสมอปลาย (อย่าเปลี่ยน Interface บ่อย หรืออออกแบบแล้วทำให้คนใช้งานงง)
ผมจะขอชี้แจงแต่ละอย่างให้อ่านกันครับ
การที่มีไอเดียเดียวจะทำให้เราสามารถโฟกัสงานได้ดีกว่า ถ้าคุณเองเป็นนักออกแบบ แล้วมีการประชุมงานกับคนหลายคนที่แต่ละคนจะมีไอเดียมาสาระพัด ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ว่าสุดท้ายคุณก็ต้องมานั่งวิเคราะห์และ normalize ให้ได้ว่า ไอเดียท้ายสุดที่เราต้องการนำมาใช้ในงานออกแบบของเราคืออะไรกันแน่ การที่มีไอเดียในการออกแบบมากไปจะทำให้เกิดความสับสน ผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับ UX ที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน User Experience เคยเขียนแนะนำไว้ เค้าบอกว่า ไอเดียหลักที่ดีนั้น ควรจะทำให้คนคิดอยู่เพียงสองอย่างคือ YES OR NO ครับ
เค้ายกตัวอย่างเช่น การทำปุ่มส่งข้อความ ถ้าบนปุ่มเราเขียนว่า GO หรือ Send หรือ Submit Now ทั้งหมดนี้ไม่ถือว่าชัดเจนเพียงพอให้เกิดการตัดสินใจ เพราะผู้ใช้จะงงว่า Go นี่คือคลิกแล้วไปไหน Send คือส่งอะไร และ Submit Now ก็ส่งอะไรเช่นเดียวกัน แม้บางคนจะดูว่ามันก็ make sense นะ แต่อย่าลืมครับว่า โลกเรามีคนหลายประเภท หลายระดับ ดังนั้น single core idea ควรจะ “ชัดเจน” รู้ทันทีว่าทำอะไร … อย่างกรณีนี้ ถ้าใช้คำว่า Send Message จะตอบโจทย์กว่า เพราะเห็นปุ๊บรู้ปั้บว่าส่งอะไรไป ผู้ใช้งานก็จะรู้ว่าจะคลิกเพื่อส่งหรือไม่คลิกดี
นอกจากนี้ ไอเดียที่เรานำเสนอเราต้องวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนครับว่า เราต้องการนำเสนออะไรกันแน่ ต้องการโฟกัสที่จุดไหน แล้วก็นำเสนอมันออกมา ยกตัวอย่างเว็บที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็หนีไม่พ้นเว็บราชการไทย ครับ ที่ดูแล้วเราก็งงๆ ว่าเค้าต้องการจะโฟกัสอะไรกันแน่ ไอเดียที่ทำเว็บคืออะไร เพราะมีหลายสิ่งเต็มไปหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา เช่นเต็มไปด้วยลิงค์ไปเว็บดูฟุตบอล ลิงค์ไปโหลดภาพวอลเปเปอร์มือถือ หรือมีการเอานาฬิกาอะนาล็อคมาแปะเต็มไปหมด
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทำงานกับหน่วยงานราชการมา ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดจาก “กระหน่ำไอเดีย” ครับ เว็บราชการมีข้อเด่นตรงที่เวลาประชุมจะมีคนมาประชุมเยอะมาก แต่ละคนก็มีไอเดียสาระพัด แล้วก็อยากให้เว็บมีตามที่ตัวเองต้องการ สุดท้ายแล้ว เว็บทีไ่ด้ก็คือเว็บที่มาจาก “หลากไอเดีย” นั่นเอง ทำให้เว็บมี “มากเกินความเป็น”
แต่หลังๆมานี้ เว็บราชการของเราก็มีหลายที่ที่ปรับปรุงให้เรียบง่ายแล้ว ขอปรบมือให้ครับ ^^
หลังจากที่เราทำให้คนสนใจในเว็บของเราหรืองานออกแบบของเราแล้ว ประเด็นใหญ่ต่อไปที่ต้องคำนึงถึงนั่นก็คือ จะทำอย่างไรให้คนยอมเสียสละเวลาอันมีค่าของเขามาใส่ใจในงานของเรา?
การออกแบบก็เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งครับ ข้อมูลที่ดี ต้องมาพร้อมกับเวลาที่เหมาะสมด้วย ถึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเอาบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป จะช่วยประหยัดเวลา และทำให้คนสนใจอย่างจะไปต่อในเว็บของเรามากขึ้น จำไว้เสมอว่า อะไรก็ตามที่ทำให้คนเสียเวลาแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับเค้า เค้าก็พร้อมจะหนีไปทันที
อย่างที่ผมเคยบอกไว้ครับว่า คนที่เข้ามาใช้งานเว็บของเรามีมากมาย หลากหลายวัย หลากหลายประสบการณ์ ถ้าคุณอยากจะให้คนอยู่กับเว็บของคุณ จงอย่าทำให้คนใช้งานเกิดความสับสนครับ ความเสมอต้นเสมอปลายในการออกแบบ ยกตัวอย่างได้ เช่น โครงสร้างของเว็บ ก็ไม่ควรจะเปลี่ยนตำแหน่งไปซะทุกหน้า เพราะถ้าเป็นแบบนี้ผู้ใช้งานจะต้องใช้การคาดเดาว่า เอ หน้านี้เมนูอยู่ซ้ายมือ หน้านี้อยู่ขวา หน้าต่อไปอยู่บน แบบนี้มันดูไม่ Friendly กับผู้ใช้
ในตอนที่ผมยังเป็นนิสิต ผมมีโอกาสได้เรียนวิชาการออกแบบ (User Interface Design) อาจารย์ผู้สอนได้สอนว่า คนทุกคนอยากจะเป็นผู้ควบคุม เวลาคุณออกแบบเว็บ คุณควรทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า พวกเขาสามารถควบคุมเว็บได้ คือรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เค้าเห็นปุ๊บรู้ปั้บว่า อ้อ! ตรงนี้คือเมนู ถ้าคลิกตรงนี้มันจะไปต่อแบบนี้นะ ถ้าไม่คลิกละจะเกิดอะไรขึ้น อย่าทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวตลก หรือต้องทำให้พวกเค้า “มาเรียนรู้ใหม่” เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำให้พวกเค้าเรียนรู้ใหม่ มีแนวโน้มที่เค้าจะทิ้งโปรดักส์ของคุณ แล้วไปซบอกเจ้าใหม่ ที่เค้าคุ้นเคยมากกว่า
ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์จริง ที่การออกแบบไม่มีความเสมอต้นเสมอปลาย ผมจำได้ว่าในช่วงที่ windows 7 ออกมาใหม่ๆ แล้วคนที่ไม่เคยใช้ต้องอัพเกรดไปใช้งาน จะมีเสียงโอดครวญเยอะมาก เนื่องจากเขาเหล่านั้นคุ้นเคยกับหน้าตาของ XP แต่พอมาเป็น Windows7 หน้าตาก็เปลี่ยนไป คำสั่งเมนูต่างๆก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้ต้องมีการ “เรียนรู้ใหม่” อีกรอบ ผมเองก็ยอมรับว่า แรกๆก็หงุดหงิดมาก เพราะต้องนั่งหา เลยรู้สึกเสียเวลาไปกับมัน … แต่ในกรณีนี้ Windows ไม่ได้มีคู่แข่งครับ (หมายถึงในระบบปฏิบัติการเดียวกัน) ทำให้ผู้ใช้ต้องยอมจำนนเรียนรู้ใหม่(ก็ได้วะ) แต่ในโลกของเว็บไซต์ เราไม่ได้เป็นเจ้าตลาดระดับ Windows ครับ ถ้าเว็บเราต้องทำให้คนใช้งานทุกคนมาเสียเวลาเรียนรู้การใช้งานเว็บ แทนที่จะเอาเวลาที่มีไปทำประโยชน์อย่างอื่น เค้าก็ไม่เสียเวลากับเราเท่าไหร่หรอกครับ มีอีกหลายเว็บที่ยังรอพวกเขาอยู่
สำหรับบทความชุดนี้ ผมเขียนขึ้นมาเพื่อต้องการสื่อว่า จริงๆแล้วคำว่า Simple มันไม่ได้หมายถึงจะต้อง Less เท่านั้น แต่มันคือการทำอย่างไร เพื่อให้สื่อสารได้ตรงไปตรงมา ว่า “นี่คืออะไร ทำมาเพื่ออะไร เพื่อคนกลุ่มไหน ใช้งานอย่างไร ทำอะไรกับมันได้บ้าง ทำแล้วได้อะไร” โดยเราต้องนำเสนอในสิ่งที่ “จำเป็นจะต้องมี อย่างเพียงพอ” ต่างหากครับ