สวัสดีครับผม วันนี้ผมกลับมาอัพเดทบทความเรื่องใหม่ เป็นบทความแบ่งปันเรื่องราวการทำงานและสิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างการทำงานนะครับ การที่เราทำงานเป็นนักออกแบบและนักพัฒนาเว็บไซต์ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “อย่าหยุดเรียนรู้” ครับ เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตกันเลยทีเดียว
พอผมออกมาทำงานได้สักพัก ผมก็ได้เรียนรู้หลายๆสิ่งที่ผมหาไม่ได้จากห้องเรียนสมัยเป็นนักเรียน และชีวิตนิสิต ซึ่งเราเองก็ต้องเข้าใจว่าห้องเรียนในสถาบันนั้นมีกรอบจำกัดเรียนกันตามหลักสูตร เป็นการเรียนจากตำรา แต่เวทีให้เอาความรู้ไปใช้งานจริงยังมีน้อยครับ
ตอนที่ผมเรียนจบออกมา ผมก็ก้าวเข้ามาสู่การทำงานเป็นนักออกแบบเว็บไซต์และพัฒนาเว็บไซต์อิสระ หรือฟรีแลนซ์เต็มตัวนั่นเอง พอเริ่มทำงานใหม่ๆ โอ้โห กว่าชีวิตจะลงตัว ต้องเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทำให้ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา ว่าสิ่งเหล่านี้คือบทเรียนชีวิตที่ผมได้เรียนรู้จากชีวิตวัยทำงาน และระบบการศึกษาในห้องเรียนยังไม่มีสอนในหลักสูตร
[thetext]หัดคุยกับคนให้เป็น[/thetext]
ตัวนี้เป็นปัญหาหลักๆของโปรแกรมเมอร์เลยครับ โปรแกรมเมอร์หลายๆคน พูดกับคอมพิวเตอร์ได้ดีมาก แต่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคนครับ ในห้องเรียนเราเน้นการใช้คำสั่งป้อนข้อมูลบอกให้คอมพิวเตอร์ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ แต่ไม่มีหลักสูตรคุยอย่างไรให้ได้งาน พอจบออกมา ผมได้เรียนรู้ว่า ทักษะนี้จำเป็นมาก ต่อให้คุณเก่งแค่ไหน แต่คุณขายงานไม่เป็น คุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง ก็ทำงานยากมากครับ
[skill2]ถ้าคุณสื่อกสารกับลูกค้าไม่เป็น หรือไม่รู้วิธีปิดการขาย มันก็ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะเก่งมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าไม่มีใครจ้าง ความสามารถที่มีก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์[/skill2]
[thetext]ทำงานจริงเจอคนหลากหลายอาชีพ[/thetext]
ใช่ครับ ทำงานจริงๆ เจอคนหลากหลายอาชีพมาก ต้องร่วมงานกับคนที่มีความรู้แตกต่างกัน ดังนั้นก็พ่วงไปถึงข้อแรก ต้องฝึกทักษะการสื่อสารให้เป็น ตอนเรียน เวลาทำงานกลุ่ม เราก็จับกลุ่มกับเพื่อนๆในภาคเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้นพื้นความรู้จึงมีอยู่ร่วมกัน แต่พอทำงานจริง หนึ่งโปรเจ็ค ถ้าทำงานเป็นทีม มันไม่ใช่มีเฉพาะโปรแกรมเมอร์ หรือดีไซน์เนอร์ หรือเอาง่ายๆ แค่สองคนนี้ถ้าเป็นคนละคนกัน หลายครั้งก็แทบจะกัดกันตาย ฉันดีไซน์แบบนี้ แต่โปรแกรมเมอร์ขอแก้ให้เป็นแบบนี้ ฮ่าๆ
ผมยังเคยคิดอยู่เลยว่า สมัยทำ Senior Project จบ น่าจะมีการลองบูรณาการข้ามคณะข้ามสาขาวิชาดูว่า ถ้าเราลองทำงานกับเพื่อนๆคณะอื่น เราอาจจะได้ผลงานที่นอกกรอบมากยิ่งขึ้น
[thetext]ความรู้จริงๆ ได้ตอนทำงาน[/thetext]
อันนี้เปิดอกคุยเลยครับว่า ความรู้ที่ได้มาและเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ มาจากการลงมือทำงานจริงๆครับ ความรู้ในห้องเรียนบางเรื่องสมัยเรียน มันคืออะไรวะเนี่ย คิดภาพไม่ออก เพิ่งจะถึงบางอ้อก็ตอนเรียนจบออกมา และได้ทำงานนั่นเอง หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินว่า พอไปทำงานก็เริ่มต้นเรียนใหม่กันหมด ผมเห็นด้วยนะครับ บทเรียนในชีวิตทำงานกับบทเรียนในห้องเรียนค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจนมาก
[thetext]จบมาไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างเสมอไป[/thetext]
ตอนเรียนนั้น เราจะได้รับการแนะแนวให้ได้ทำงานกับองค์กรดีๆ บริษัทชั้นนำ เหมือนกับการฝึกทักษะ เป็นลูกจ้างอยางไรให้เพอเฟ็ค แต่ไม่มีหลักสูตร เป็นนายตัวเองอย่างไรให้อยู่รอด ผมเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เห้ย! การทำงานเป็นนายตัวเองเนี่ย มีอะไรให้ทำเยอะขนาดนี้เลยเหรอ ไล่ตั้งแต่ติดต่อลูกค้าอย่างไร หาลูกค้าได้จากไหน ทำบัญชีต้องทำอย่างไร บลาๆๆ เรื่องพวกนี้ไม่มีเลยในหลักสูตร พอจบออกมาแค่นั้นแหล่ะ มึนๆ งงๆ เริ่มต้นการเป็นนายตัวเองไม่ถูกทาง กว่าจะคลำเจอก็เสียเวลาไปพอสมควรครับ
[thetext]เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิต[/thetext]
หลายคนชอบตีความผิด พอมีคนบอกว่าไม่จำเป็นต้องเรียนดี เอาเกรดหรู ก็เลยพากันไม่สนใจเรียนซะงั้น ที่ผมต้องการสื่อก็คือ เกรดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิต ที่ช่วยเปิดทางให้คุณได้โอกาสทำงานมากขึ้น ยิ่งถ้าคุณต้องการทำงาน สมัครงานในบริษัทชั้นนำ แน่นอนเค้าก็ต้องดูผลการเรียนของคุณ เพราะคุณเพิ่งจบออกมา ยังไม่มีประสบการณ์ เค้าก็เลยวัดได้เฉพาะเกรดนั่นแหล่ะครับ การตั้งใจเรียนทำให้เต็มที่ เป็นสิ่งที่ผมสนับสนุนให้ทำครับ
แต่ถ้าหากว่าคุณคะแนนได้ไม่ค่อยดี เกรดไม่หรู ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะอาชีพบางอาชีพ เกรดมันก็ไม่ได้ตัดสินว่าเราจะทำงานตัวนั้นไม่ได้ เช่นในงานดีไซน์ คุณอาจจะได้เกรดไม่ดี แต่งานออกแบบของคุณแม่งโคตรเจ๋ง เอกลักษณ์ชัดเจน ลูกค้าเค้าไม่ค่อยสนใจหรอกครับว่าตอนจบมาคุณได้เกรดเท่าไหร่ เค้าดูแต่ว่า “คุณทำงานเป็นมากน้อยแค่ไหน” บทเรียนจริงๆเริ่มต้นกันตอนทำงานนั่นแหล่ะครับ
[thetext]อย่ารอให้เรียนจบแล้วค่อยสร้างผลงาน[/thetext]
ข้อนี้เป็นสิ่งที่อยากจะเน้นมากๆให้บรรดาน้องๆที่กำลังศึกษาอยู่ ว่าน้องครับ อย่ามัวรอให้มีงานก่อนแล้วค่อยเริ่มงาน ถ้าสังเกตดูเวลาเจอใบสมัครงาน ส่วนใหญ่เค้าจะขอคนที่มีประสบการณ์ทำงานอยางน้อย 1 ปีกันทั้งนั้น แต่บรรดาพวกเราคนจบใหม่ละ จะไปเอาประสบการณ์มาจากไหน?
อาชีพนักออกแบบและโปรแกรมเมอร์เนี่ย ได้เปรียบค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ เราสามารถเริ่มทำงานได้ตั้งแต่สมัยยังเรียนก็ได้นะครับ เริ่มจากงานอาสา งานอะไรก็ได้ ทำไว้เพื่อเก็บประสบการณ์
อีกอย่างคือ มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองไว้ทำผลงานครับ อาชีพทุกอาชีพตอนนี้ ผมว่าควรจะมีผลงานออนไลน์ไว้ได้แล้วครับ ลองคิดดูว่าถ้าหากเราเริ่มทำเว็บตั้งแต่สมัยเรียน (สมมติว่าตอนอยู่ปีหนึ่ง) พอเรียนจบออกมา เว็บเราก็จะมีอายุสี่ปี การจัดอันดับความสำคัญใน google ก็ดีกว่าเว็บที่เพิ่งเปิดใหม่แน่นอน ผมเองยังเสียดาย ที่เริ่มทำเว็บไซต์ของตัวเองช้าไป
[thetext]จงมั่นใจในตัวเอง[/thetext]
เวลาทำงานจริงๆ เราจะมาอึกๆอักๆ เหมือนตอนพรีเซนต์หน้าห้องไม่ได้นะครับ (ใครเคยเป็นบ้าง ยกมือขึ้น! ฮ่าๆ) ต้องพูดจาฉะฉาน เตรียมเอกสาร เตรียมงานนำเสนอ ทำการบ้านให้พร้อม การมั่นใจในตัวเองมันช่วยเสริมบุคลิกของเราด้วยครับ
ถ้าหากว่าเรามีโอกาสได้เป็นผู้พูดหน้าชั้นเรียน ผมว่ารีบคว้าไว้เลยครับ นี่แหล่ะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยฝึกทักษะของเรา เพราะเราจะได้ฝึกการเตรียมตัว การทำสมาธิ และอีกหลายๆอย่างเลย
จริงๆบทเรียนชีวิตที่ได้เรียนรู้ระหว่างทำงานก็ยังมียิบย่อยอีกเยอะครับ แต่ผมคัดเอามาบางส่วนเพื่อมาแบ่งปันกัน เพื่อนๆท่านอื่นละครับ มีบทเรียนอะไรบ้างที่อยากจะแชร์ ก็มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ