สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความเรื่องใหม่เกี่ยวกับแวดวงการทำเว็บไซต์ครับผม วันนี้ผมอยากจะมาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับสายงานตัวเอง เผื่อสำหรับคนที่อยากจะรู้ว่าเวลาที่จะทำเว็บไซต์สักเว็บเนี่ย มันมีกระบวนการดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะจากการดีลงานกับลูกค้าโดยตรง ลูกค้าเองก็อยากรู้ว่าขั้นตอนการทำงานของเรานั้นมีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งคนที่สนใจอยากเข้ามาสัมผัสสายงานด้านนี้ก็ถามผมเหมือนกันว่า ทำเว็บหนึ่งเว็บ เตรียมอะไรบ้าง มาดูกันครับ
[thetext]คุยกับลูกค้าเพื่อเก็บข้อมูล[/thetext]
เริ่มตั้งแต่ได้รับการติดต่อจากลูกค้า ไม่ว่าจะผ่านอีเมลหรือโทรศัพท์ ขั้นตอนแรกเลยก่อนที่จะเริ่มโปรเจ็ค คือเราต้องคุยกับลูกค้าให้ชัดเจนก่อนครับว่า เว็บไซต์ที่ลูกค้าต้องการนั้นเป็นเว็บไซต์แนวไหน บรีฟกันให้ละเอียดเลยครับ ว่าเป้าหมายที่ทำเว็บทำเพื่ออะไร เพื่อใคร วัตถุประสงค์หลักของการทำเว็บคืออะไร (เช่นบางคนต้องการทำเพื่อปรับดีไซน์ บางคนต้องการทำเพื่อเปลี่ยนระบบการพัฒนา) มีฟังก์ชั่นการทำงานที่ต้องการอย่างไรบ้าง จัดการเนื้อหาอย่างไร ใครเป็นคนดูแล
[thetext]สรุปความต้องการของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร[/thetext]
หลังจากที่เราเมาท์มอยเก็บข้อมูลมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือต้องมา Finalize หรือวิเคราะห์พร้อมสรุปให้ชัดเจนครับว่า จากข้อมูลทั้งหลายที่ได้มานั้น มีอะไรบ้าง พร้อมทั้งเขียนเป็นเอกสารนำเสนอลูกค้าให้รับทราบเลยครับ โดยในเอกสารนี้ก็จะประกอบด้วย งบประมาณสำหรับค่าบริการทำเว็บไซต์ ขอบเขตของงาน ระยะเวลาของการทำเว็บไซต์ตัวนี้ และรวมไปถึงสิทธิและลิขสิทธิ์ของเว็บไซต์ที่พัฒนา พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว ขอแทรกนิดนึงนะครับว่า อย่าไปเอารูปชาวบ้านมาใช้ทำเว็บเด็ดขาด ถ้ารูปพวกนั้นไม่ได้อนุญาตให้เราเอามาใช้ได้ บางคนไปก็อบมาจากเว็บ Google เห็นแล้วหวาดเสียวแทน เพราะถ้าโดนเรื่องลิขสิทธิ์รูปมาแล้ว อาจจะมีอ่วมไปข้าง ถ้าหากอยากได้รูปสวยๆมาใช้งานฟรี ลองหาจากเว็บนี้ก็ได้ครับ
[thetext]ค้นคว้า หาแรงบันดาลใจ และวางแผนการทำงาน[/thetext]
เมื่อลูกค้าตอบตกลงให้เราทำงานให้แล้ว ขั้นตอนต่อมาเราก็ต้องทำการค้นคว้าเกี่ยวกับธุรกิจของลูกค้าและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าเรากำลังทำงานให้ใครอยู่ โดยส่วนตัวผมก็จะทำการศึกษาธุรกิจลูกค้าจาก company profile และก็ดูบริษัทอื่นในแวดวงเดียวกัน ว่าเป็นอย่างไร (เหมือนดูเว็บคู่แข่งบริษัทเค้านั่นแหล่ะครับ)
จากนั้นก็ทำการหาแรงบันดาลใจเพื่อที่ทำการออกแบบหน้าตาเว็บไซต์ครับ บางคนอาจจะงงว่าต้องหาด้วยเหรอ สำหรับบางเว็บก็ต้องหานะครับ ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย หรือเคยทำเว็บแนวนี้มาก่อน เช่น ถ้าผมได้โปรเจ็คเกี่ยวกับโรงแรม ผมก็จะออกไปหาแรงบันดาลใจด้วยการไปนั่งดูล๊อบบี้โรงแรมต่างๆ หรืออ่านหนังสือแนว Interior หนังสือการจัดสวน หนังสือการจัดบ้าน จริงๆแรงบันดาลใจมีอยู่หลากหลายที่ครับ ไม่จำเป็นต้องดูจากเว็บไซต์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ต่อมาก็คือการวางแผนการทำงานว่าตัวเว็บไซต์จะออกมาในรูปแบบไหน เริ่มต้นเลยด้วยการเขียน Site Map ของเว็บไซต์ให้ชัดเจน สำหรับคนที่ไม่รู้ว่า Site Map คืออะไร? พูดง่ายๆก็คือ เมนูในเว็บไซต์นั่นแหล่ะครับ ว่ามีเมนูอะไรบ้าง คลิกแล้วจะแสดงผลอย่างไร เนื้อหาที่แสดงเป็นแนวไหน ประมาณนี้ครับ
[thetext]เริ่มต้นออกแบบ ทำ Mock Up[/thetext]
ขั้นตอนนี้เริ่มต้นตั้งแต่การเขียน Wireframe ครับ ส่วนมากผมจะร่างคร่าวๆในกระดาษก่อน ว่าจะจัดวางองค์ประกอบต่างๆในเว็บไซต์อย่างไร มีเลเอาท์แบบไหน จากนั้นก็เปิดโปรแกรม Photoshop ขึ้นมา และเริ่มลงมือออกแบบให้เป็นรูปเป็นร่างจาก Wireframe ที่คิดไว้ครับ
พอออกแบบเสร็จแล้ว ก็ส่งให้ลูกค้าดู และรอฟีดแบ็คจากลูกค้าครับ ถ้าลูกค้าต้องการให้ปรับแก้ ก็จะเป็นขั้นตอนการปรับแก้ และส่งให้ลูกค้าดูอีกที เมื่อลูกค้าคอนเฟิร์มดีไซน์แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการถัดไป
[thetext]พัฒนาเว็บไซต์[/thetext]
ได้เวลาเขียนโค้ดแล้วครับ ทำการแปลงดีไซน์สวยๆที่ลูกค้าแฮปปี้ ให้กลายเป็น HTML/CSS จากนั้นก็ทำระบบหลังบ้าน ซึ่งผมจะใช้ WordPress เป็นระบบหลักในการพัฒนาให้กับลูกค้า ดังนั้นขั้นตอนนี้ก็จะเป็นขั้นตอนการทำ Theme สำหรับ WordPress นั่นเอง ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเหมือนกันครับ ทำการพัฒนาให้ครบตามขอบเขตของงานที่เราตกลงกับลูกค้าไว้
[thetext]ทดสอบการใช้งานและตรวจสอบบั๊ก[/thetext]
หลังจากที่พัฒนาเสร็จแล้ว ก่อนจะส่งงานให้ลูกค้า เราก็ต้องเอามารันใช้งานดูก่อนว่าฟังก์ชั่นที่เขียนเป็นไปตามความต้องการหรือเปล่า ทำงานดีไหม มีลิงค์ไหนที่คลิกแล้วไม่ได้หรือเปล่า มีปัญหาอะไรต้องแก้ไขหรือเปล่า สะกดคำถูกต้องหรือไม่ ขั้นตอนนี้ผมจะอัพลง Server ส่วนตัวแล้วให้ลูกค้าร่วมตรวจสอบด้วยครับ อ้อ อย่าลืมทำการตรวจสอบด้วยการเปิดกับบราวเซอร์อื่นๆด้วยนะครับ (ในปัจจุบันต้องตรวจสอบทั้งในมือถือในแท็บบลิตด้วย)
[thetext]ส่งงานให้ลูกค้า[/thetext]
เมื่อทดสอบการใช้งานและตรวจสอบอะไรเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็จะเป็นการส่งมอบงานให้ลูกค้าครับ โดยงานที่จะส่งมีอะไรบ้างนั้นก็เป็นไปตามข้อตกลงที่เราตกลงกันไว้ เช่นในกรณีของผม ก็จะมีส่งตัว source code ให้ พร้อมวีดีโอการใช้งานเว็บไซต์ เป็นต้น
จะเห็นว่าขั้นตอนการทำเว็บไซต์ ค่อนข้างจะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็ไม่แปลกครับ เพราะการทำเว็บไซต์ให้ดีๆสักเว็บ ต้องมีการวางแผนที่ดี เว็บที่เตรียมโครงสร้างเว็บไว้ดีอยู่แล้ว หากในอนาคตอยากจะต่อเติมปรับแต่งก็จะทำได้ง่าย แต่ถ้าหากเว็บไหนที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน อนาคตมักจะยุ่งยากเวลาต้องการอัพเดทหรือแก้ไข
ทำเว็บก็เหมือนสร้างบ้านครับ ถ้าแบบแปลนบ้านไม่ดี จะต่อเติมอะไรภายหลังมันก็เสี่ยงหรือไม่เหมาะสม หรือทำได้แต่ดูไม่เข้าไม่สวย เว็บไซต์ก็เช่นเดียวกันครับ วางแผนวาง site map ไม่ดี มาทำทีหลังก็ออกมาดูขาดๆเกินๆได้ครับ