ในช่วงสองสามปีมานี้ ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรมาหลายที่ครับ ทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศ ต่างประเทศ และโรงเรียนตามจังหวัดต่างๆ บ้างก็เป็นวิทยากรรับเชิญไปสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ในระยะสั้นๆ บ้างก็ไปแบ่งปันประสบการณ์ในสายวิชาชีพ ซึ่งผมก็รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ให้โอกาสผมได้ไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสถาบันการศึกษาและได้เปิดมุมมองในโลกของการทำงานให้กับน้องๆที่กำลังเรียนอยู่
เมื่อผมไปเป็นวิทยากรอบรม ผมก็ได้มุมมองความคิดบางอย่างจากน้องๆมาด้วยครับ หนึ่งในความคิดและความกังวลของหลายๆคน ก็คือ “เราไม่เก่ง เราไม่ได้จบจากสถาบันอันมีชื่อเสียง เราคงสู้พวกเค้าไม่ได้” ผมได้ยินแบบนี้แล้ว ผมก็ตกใจเบาๆอยู่เหมือนกัน แต่ครั้นผมจะบอกไปว่า เห้ย อย่าไปคิดมาก มันก็ดูจะแบบว่า เออ เอ็งก็พูดได้ เพราะเอ็งก็จบมาจากมหาวิทยาลัยดังนี่หว่า ซึ่งบางทีตรงนี้ก็เป็นกำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างเรากับผู้ฟังเหมือนกัน
ผมเลยขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ในการแสดงมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อที่ว่า เราไม่ได้จบจากสถาบันอันมีชื่อเสียง แล้วเราจะสู้คนอื่นไม่ได้ อันนี้แทบจะไม่เป็นความจริงเสียทีเดียวครับ แม้ผมเองจะจบมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ผมก็มีเพื่อนๆที่เรียนจบจากที่อื่น และไม่ได้เรียนต่อด้วยก็มีครับ ผมเลยได้เห็นและตระหนักว่า จริงๆแล้ว “เราเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเองเป็นส่วนใหญ่” ครับ มหาวิทยาลัย หรือสถาบันมีส่วนน้อยมาก
ผมจะขอยกตัวอย่างให้ติดตามครับ แล้วลองคิดดูนะครับว่า ชีวิตเราใครเป็นคนกำหนด เริ่มต้นที่เพื่อนคนแรกครับ เพื่อนคนนี้สมัยเรียนก็เรียนเก่งในระดับกลางๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่เพื่อนคนนี้ก็มีความฝันที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนครับ เค้าชอบเข้าสังคม เค้าชอบเรื่องการพบปะและเจรจางานกับคนอื่น แต่สิ่งที่เค้าเรียน มันเป็นอะไรที่เป็นวิชาการมาก จบออกมาก็ต้องทำงานในห้องแล็ป ซึ่งแน่นอนว่าเค้าไม่ชอบสิ่งนั้นเลย แต่เค้าก็เรียนให้จบเพื่อให้ได้ปริญญามา แต่ระหว่างนั้นเค้าก็ฝึกทักษะอย่างอื่นไปด้วย เพราะเค้ามีความใฝ่ฝันในชีวิตอยู่แล้วว่าอยากทำงานด้านไหน และแน่นอน เรื่องพวกนี้ไม่มีสอนในสถาบันหรือหลักสูตรที่เค้าเรียนอยู่ เค้าต้องศึกษาเองทั้งหมด
เมื่อจบออกมาแล้ว เค้าก็เริ่มเดินตามฝันตัวเองครับ จับทางทำธุรกิจ ลองผิดลองถูก และเพื่อนคนนี้ตอนนี้ก็มีความมั่นคงในชีวิตในระดับที่น่าพึงพอใจครับ (เมื่อเทียบกับอายุการทำงาน) เพราะปีที่ผ่านมา รายได้ก็ทะลุหลักล้านแล้วครับ และเค้าก็มีความสุขในชีวิตของตัวเองมาก
บุคคลที่สอง เพื่อนคนนี้ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยครับ ดังนั้นถ้าเอาไปเทียบกับคนที่สอบติดมหาลัยได้ ถือว่าเค้าก็ด้อยกว่าแน่ๆ แต่เค้าไม่เคยคิดว่าเป็นข้อด้อยครับ เค้ามองว่าในเมื่อเค้าไม่มีโอกาสเรียนต่อ เค้าก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น เค้าเลยหันมาศึกษาเรื่อง IT ด้วยตัวเอง หาคนสอนบ้าง ถามคนนั้นคนนี้บ้าง พยายามเรียนรู้ให้ได้เยอะที่สุด ที่สำคัญภาษาอังกฤษเค้าก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่เลยครับ แต่เค้าก็พยายามฝึกอยู่เสมอ
ทุกวันนี้เพื่อนคนนี้ทำงานโดยเจาะตลาดเป็นชาวต่างชาติครับ เค้ามี Passive Income เดือนละหนึ่งแสนบาท ผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คุณคิดว่าเค้ามีทุกวันนี้ได้ เพราะสถาบันเป็นหลักหรือเปล่า?
คนที่สาม เป็นรุ่นพี่คนหนึ่งครับ ที่บ้านค่อนข้างยากจนนะ เค้าไม่มีโอกาสได้เรียนระดับมัธยมเหมือนเพื่อนๆ เลยต้องขอพ่อแม่บวชเรียน แล้วก็เพียรพยายาม จนสามารถเทียบโอนหลักสูตร และสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทุกวันนี้เค้าเป็นเจ้าของกิจการที่มีอนาคตมากๆ
ทั้งสามคนนี้ มีพื้นเพชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เค้ามีร่วมกันนั่นก็คือ “ความเพียรพยายาม และความตั้งใจ” ครับ ถ้าเราคิดว่าเราไม่เก่ง ผมว่าดีเสียอีก อย่างน้อยเราก็รู้ตัวไงครับ ว่า เห้ย ตอนนี้เราไม่เก่งนะ แล้วไม่เก่งเรื่องอะไรละ? เขียนโปรแกรมไม่เก่ง? ออกแบบไม่เก่ง? พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง? แล้วทำอย่างไรจะให้มันเก่งขึ้น คำตอบมันก็แทบจะมีให้เห็นอยู่ชัดเจนอยู่แล้วครับ ในเมื่อเรารู้ว่าเราเขียนโปรแกรมไม่เก่ง เราก็ต้องฝึกให้มากขึ้น ถามให้มาก ทำให้มาก ออกแบบไม่เก่ง ก็ต้องออกแบบให้เยอะ อ่านให้เยอะ ดูงานให้เยอะ พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง ก็หัดพูดให้บ่อยขึ้น ใช้ให้บ่อยขึ้น หาเพื่อนคุยภาษาด้วยกัน …และอีกสาระพัดวิธีครับ เห็นไหมครับว่า จริงๆแล้ว ค่าของความสำเร็จส่วนใหญ่แล้วมันอยู่กับตัวเราทั้งนั้นครับ
ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกคนต่างก็มีศักยภาพมากกว่าที่ตัวเองคิดไว้เสียอีกครับ อย่ามองว่ามันเป็นปัญหา แต่ให้มองว่ามันคือโอกาสที่จะให้เราได้ฮึดสู้ เช่นเดียวกันครับ ต่อให้ได้เรียนในสถาบันดังแค่ไหน แต่ถ้าไม่สนใจจดจ่อ มันก็เก่งสู้คนที่ได้ทำเยอะกว่ายากครับ ถ้าไม่อย่างนั้น คนดังๆระดับโลกหลายคน ก็คงไม่มีโอกาสประสบผลสำเร็จ เพราะบางคนก็ไม่เคยเรียนหนังสือในสถาบันดีๆเสียด้วยซ้ำ
ในทุกสถานการณ์มีโอกาสอยู่เสมอ คำนี้ไม่ใช่แค่คำพูดสวยๆหล่อๆ ฟังดูเท่ แต่เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริงครับ เพียงแต่เราจะต้องฝึกให้มาก ทำให้มาก เพื่อให้มีประสบการณ์ให้มากจะได้มองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ได้ชัดเจนขึ้น ง่ายขึ้น
เราไม่เก่งในตอนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีโอกาสเก่งได้ในอนาคตนี่ครับ
เราไม่เก่ง หรือเป็นเพราะว่าเราไม่พยายามเก่งให้มากพอกันแน่…
ชีวิตเรา เราเป็นคนกำหนดครับ :)