สวัสดีครับผม ได้เวลากลับมาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการทำเว็บอีกแล้วนะครับ สำหรับบทความตอนนี้ ผมขอเขียนเกี่ยวกับเรื่องง่ายๆ ที่เหมาะสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งย่างก้าวเข้ามาสู่โลกของการทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ครับ นั่นก็คือมารู้จัก Custom Post Type กันดีกว่า
ถ้าหากว่าเราเคยใช้ WordPress มาบ้าง สังเกตไหมครับว่าเมื่อเราติดตั้ง WordPress เสร็จแล้ว เราจะสามารถเพิ่มเนื้อหาได้หลักๆอยู่สองประเภทคือแบบ Post และแบบ Page โดยทั้งสองแบบก็มีความสำคัญที่แตกต่างกัน และหลายๆคนก็งงๆว่า สองอันนี้ต่างกันอย่างไร
มี “คีย์เวิร์ด” จำไว้แบบนี้ครับ
ถามตัวเองว่า เนื้อหาประเภทนั้น “จัดหมวดหมู่ได้หรือใหม่” ถ้าเมื่อไหร่ที่เนื้อหานั้นต้องมีหมวดหมู่ แสดงว่ามันเป็นเนื้อหาประเภท Post ถ้าเนื้อหานั้นเป็นเนื้อหาที่ไม่จัดหมวดหมู่ก็ได้ ก็ให้มันเป็น Page ไปครับ
เช่น ผมเขียนบล็อกเรื่องนี้ ผมจัดหมวดหมู่ให้มันได้ ว่ามันควรจะอยู่ในหมวดหมู่ Blog ก็แสดงว่าผมเขียนเนื้อหานี้เป็นประเภท Post แต่สมมติว่าผมเขียนเนื้อหาแนะนำประวัติของผม ผมมองว่าประวัติของผมมันไม่ต้องไปสังกัดหมวดหมู่ไหนก็ได้ ผมก็เลือกเป็น Page แบบนี้เองครับ
อ้าว แล้วเกี่ยวอะไรกับ Custom Post Type ฮ่าๆ
คืออย่างนี้ครับ ด้วยความที่ว่า WordPress ให้ประเภทเนื้อหามาเพียง 2 อย่างหลักๆเท่านั้น แล้วถ้าหากว่าเรา “ต้องการสร้างประเภทของเนื้อหาเอง” ล่ะ ทำได้ไหม? แน่นอนครับว่าทำได้ ซึ่งประเภทของเนื้อหานั่นแหล่ะครับ เราเรียกว่า Post Type โดยตอนนี้เรามีแล้วสอง Post Type คือ Post , Page และถ้าเราอยากจะสร้างขึ้นมาอีก เราก็สร้างชื่ออะไรก็ได้
ยกตัวอย่าง ผมต้องการสร้างเว็บจัดเก็บข้อมูลนักเรียน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ผมก็อยากจะสร้างประเภทเนื้อหาที่เกี่ยวกับนักเรียนขึ้นมาโดยเฉพาะเลย วิธีการที่ง่ายๆก็คือสร้าง Custom Post Type ขึ้นมาเอง โดยตั้งชื่อว่า Student อะไรแบบนี้ครับ พอเราสร้างเสร็จแล้ว เราก็จะเห็นว่า เมื่อต้องการเพิ่มเนื้อหา แทนที่มันจะมีให้เพิ่มแค่สองอย่าง คือ New Post , New Page มันก็จะมี New Student โผล่มาด้วยครับ
ส่วนวิธีการสร้าง Custom Post Type ผมเลือกใช้ปลักอินครับ เพราะมันสะดวกต่อการบริหารจัดการ ไม่อยากจะเขียนโค้ดเอง เปลืองเวลาครับ ปลักอินที่ว่าก็คือ Custom Post Type UI ครับผม
สามารถโหลดไปลองเล่นกันดูได้นะครับ
ถ้าเพื่อนๆอยากรู้เรื่องไหนเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้นะครับ ^^