ตอนเย็นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เสียงโทรศัพท์มือถือของผมก็ดังขึ้น ผมกดรับสายแล้วก็ได้ยินเสียง พี่สนขาาาาาา ผมก็หืม น้ำเสียงแบบนี้แสดงว่าคนที่โทรมาต้องมีอะไรขอร้องผมแน่ๆ และก็เป็นไปอย่างที่คิดครับ คนที่โทรมาเป็นรุ่นน้องของผม เธอโทรมาหาเพราะอยากจะมีเว็บไซต์ของตัวเอง เอาไว้เขียนบล็อกเล่าเรื่องราวต่างๆที่เธออยากจะนำเสนอ ผมได้ยินแล้วก็ดีใจนะครับ เพราะผมเชียร์ให้ทุกคนมีบล็อกอยู่แล้ว
“พี่สน หนูหนะ พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำเว็บแบบคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย แต่หายังไงก็หาไม่เจอ หรือหาเจอก็ไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเขาพูดถึง อย่าเพิ่งไปพูดถึงทำเว็บด้วย WordPress อะไรเลยค่ะพี่ เอาแค่ว่า จะทำยังไงให้มีชื่อเว็บเป็นของตัวเอง หนูยังไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง ถ้าเป็นไปได้ พี่สนช่วยเขียนบล็อกพูดถึงขั้นตอนพื้นฐานของการจะทำเว็บได้ไหมคะ? หนูว่ามีคนที่อ่อนด้อยความรู้ด้านเว็บแบบหนูเยอะอยู่นะพี่”
และนั่นก็เป็นที่มาที่ไปของการเขียนบทความเรื่องนี้ครับ
เอาเข้าจริง คิดไปคิดมามันก็จริงอย่างที่น้องว่าครับ บางเรื่องที่พวกเราเขียนนั้นเราก็ข้ามขั้นตอนพื้นฐานไป เพราะเราคิดว่ามันพื้นฐานมาก และคนก็น่าจะรู้อยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงก็มีเยอะที่ไม่ได้รู้เหมือนเรา ดังนั้น ในบทความนี้ผมเลยจะมาพูดถึงการจะมีเว็บเป็นของตัวเอง แบบง่ายๆ ก่อนละกันครับ
[thetext]Domain name ใช้ชื่อเว็บอะไรดีหว่า[/thetext]
เมื่อเราคิดจะมีเว็บเป็นของตัวเอง อย่างแรกสุดเลยครับ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เว็บไซต์ของเราต้องการให้ชื่อเว็บว่าอะไร มีชื่อ www อะไรนั่น ไอ้เจ้าตัว www บลาๆ นั่นแหละครับ เราเรียกว่า Domain Name
ทีนี้การเลือกชื่อโดเมนมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียวนะครับ วิธีการเลือกใช้ชื่อ ถ้าให้ผมแนะนำ ผมแนะนำให้ชื่อมันสอดคล้องกับสิ่งที่เราทำอยู่ครับ ยกตัวอย่างเช่น ผมเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากบาหลี อะไรแบบนี้ ถ้าจะใช้ชื่อเว็บ ผมก็เลือกใช้ประมาณว่า furniturefrombali.com อะไรแบบนี้ก็ได้คับ เพราะคนจะเข้าใจได้เลยว่าเว็บเราเกี่ยวกับอะไร อีกอย่างก็คือชื่อเว็บควรจะจำง่าย สั้นๆ พิมพ์ง่ายด้วยครับ
เมื่อเราคิดชื่อได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปครับ เราต้องไปตรวจสอบว่าชื่อโดเมนที่เราปรารถนา มันว่างให้เราใช้หรือเปล่า เพราะอย่าลืมนะครับว่า เว็บไซต์มีคนทำทั่วโลก ชื่อบางชื่อก็มีคนจดไปเสียแล้ว ยิ่งชื่อง่ายๆสั้นๆ แทบจะมีคนจองเรียบร้อย
วิธีการตรวจสอบว่ามันว่างหรือไม่นั่น ให้เข้าที่เว็บนี้นะครับ www.whois.com แล้วก็พิมพ์ชื่อ Domain name ที่ต้องการตรวจสอบลงไป
แล้วก็คลิก Search ดูครับว่ามันว่างหรือเปล่า อยากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า ชื่อนี้มีคนจดไปแล้วครับ แต่มันก็จะมีข้อเสนอให้ด้านล่างว่าหรือคุณต้องการใช้ดอท แบบอื่นไหม เช่น ดอทคอมไม่ว่าง จะใช้ดอทเน็ตหรือเปล่า
ถ้าให้ผมแนะนำครับว่า ถ้าเป็นไปได้ให้หาที่เป็น .com จะดีกว่า เพราะคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับดอมคอมกันเสียแล้ว แต่ถ้ามันไม่ได้ ใช้ดอทเน็ต ก็ไม่มีปัญหาครับ สำหรับ ดอท แต่ละอย่างก็มีความหมายไม่เหมือนกันนะครับ เช่น ถ้าจะทำเว็บบริษัท ก็จะเป็น .com หรือ .co.th อะไรแบบนี้ ถ้าเป็นเว็บองค์กร ก็จะเป็น .org
ขั้นตอนการเลือกชื่อที่มันตรงใจและว่าง ค่อนข้างจะกินเวลาครับ อันนี้ต้องใช้เวลาไปกับมันเยอะหน่อย
เมื่อเราได้ชื่อที่มันว่างแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ทำการจดโดเมนเลยครับ การจดโดเมนเนี่ยก็มีหลายรูปแบบครับคือ
- จดด้วยตัวเอง
- จดผ่านบริษัทที่ให้บริการจดโดเมนพร้อมเซิฟเวอร์
อันแรก คือการจดด้วยตัวเอง ขั้นตอนนี้เราต้องไปเปรียบเทียบดูว่า จะซื้อโดเมนจากเว็บไหน ราคาโดเมนแต่ละเจ้าก็ไม่เท่ากันด้วยครับ บางเว็บก็มีส่วนลดให้เราอีกในกรณีที่ซื้อสองปีขึ้นไป อะไรทำนองนี้ ราคาโดเมน โดยส่วนใหญ่ ก็จะไม่เกิน $15 ครับ การซื้อด้วยตัวเองนั้น เว็บที่ผมแนะนำก็จะมีดังนี้ครับ
ก็เลือกเปรียบเทียบราคาดูนะครับ ข้อแนะนำของผมก็คือให้ดูว่าราคาหลังโปรโมชั่นมันเป็นอย่างไร บางทีปีแรกถูกแสนถูก แต่ปีต่อไปแพงมาก ก็เลือกกันให้ดีๆนะครับ สำหรับบางเจ้าเช่น godaddy เขาก็จะเสนอขาย Hosting ด้วย ไม่ต้องเลือกนะครับ จากประสบการณ์ การใช้งานโฮสต์ Godaddy เซิฟเวอร์เขาช้ามาก และซัพพอร์ตลำบากสุดๆ (อันนี้ความเห็นส่วนตัวที่เจอมา ไม่แฮปปี้กับเจ้านี้ครับ)
ราคาค่าโดเมนเราจะจ่ายทุกปีครับ ดังนั้นถ้าใครจดแบบปีต่อปี ก็อย่าลืมต่ออายุมันด้วยนะครับ เดี๋ยวเว็บจะหายไม่รู้ตัว
[thetext]Hosting พื้นที่สำหรับทำเว็บไซต์[/thetext]
เอาหละครับ พอเราได้ชื่อสำหรับทำเว็บไซต์แล้ว ต่อมาเราก็ต้องไปหาพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลเว็บไซต์ของเรา เราจะเรียกว่า Hosting ครับ โดยการเลือกซื้อโฮสต์ก็มีหลายรูปแบบอีกครับ บางคนไปเปิดดูเว็บผู้ให้บริการเช่า Host ก็อาจจะงงๆกับคำศัพท์ที่เขาใช้ในหน้าเว็บ เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังว่ามันมีอะไรบ้าง
โฮสต์ทั่วไปจะมีอยู่สามรูปแบบครับคือ Shared Hosting, Virtual Private Server Hosting (VPS) และแบบ Dedicated Hosting ครับ
การจะเลือกว่าใช้บริการ Host แบบไหน หลักๆให้พิจารณาว่า Traffic (ปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์) ของเว็บไซต์ของเรามากน้อยเพียงใด และปริมาณข้อมูลที่จะจัดเก็บขนาดเท่าไหร่ครับ
อันแรก Shared Server Hosting ตัวนี้จะเป็นแบบที่คนนิยมมากที่สุด เพราะราคาค่อนข้างถูกครับ Host แบบนี้เป็นโฮสต์ที่แบ่งพื้นที่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เรามาส่วนหนึ่ง และอีกส่วนที่เหลือก็แบ่งให้คนอื่นใช้ด้วยครับ ก็คือการแชร์พื้นที่ให้ลูกค้าหลายๆเจ้านั่นเอง ข้อดีของมันก็คือเหมาะสำหรับเว็บที่ Traffic ไม่ได้สูงมากนัก ประหยัดค่าใช้จ่าย และใช้งานง่ายไม่ต้องดูแลเอง มีเจ้าหน้าที่บริการให้ แต่ข้อเสียก็คือ ด้วยความที่เป็นพื้นที่ที่แชร์กัน ถ้าเว็บของคนอื่นมีปัญหา ดึง traffic ก็จะทำให้เว็บเราช้าไปด้วยครับ อารมณ์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเจ้าอื่นอ่ะครับ เว็บเราไม่มีปัญหา เว็บอื่นมีปัญหา ก็ทำให้เรามีปัญหาไปด้วย (ก็ใช้เครื่องคอมด้วยกันนี่นา) จำง่ายๆนะครับ โฮสต์ประเภทนี้คือ โฮสต์เช่าแบบ “หอพัก” เก็บทั้งเว็บเรา และเว็บของคนอื่น ถ้าเกิดทุกห้องพากันเปิดก๊อกน้ำ
แบบที่สอง Virtual Private Server Hosting (VPS) แบบนี้จะคล้ายๆกับว่าเรามีพื้นที่ Server เป็นของตัวเอง สามารถทำอะไรกับมันก็ได้ จะลงโปรแกรมก็ลงได้เองไม่ต้องง้อเจ้าของ Host มาทำให้ และโฮสต์แบบนี้เราจะมีหน่วยความจำและประมวลผลของ CPU เป็นของเราเอง (แต่ยังมีการแบ่งพื้นที่บนคอมให้เจ้าอื่นอยู่นะคับ) จึงไม่ต้องไปกังวลครับว่าจะทำให้เว็บคนอื่นช้า หรือเว็บคนอื่นจะพาให้เราช้าไปด้วย โฮสต์ประเภทนี้จึงเป็นโฮสต์ที่รองรับ Traffic ที่สูงขึ้นมาอีกครับเมื่อเทียบกับ Shared Hosting
แบบที่สาม Dedicated Server Hosting โฮสต์แบบนี้ก็คือการที่เราเช่า “มาทั้งเครื่อง” ว่าเครื่องตัวนี้ของเราคนเดียว ห้ามแบ่งคนอื่น เราจะมาทำอะไรกับมันก็ได้ คือต่างจากแบบที่สองตรงที่เราได้ “มาทั้งหมด” ครับ แบบที่สองได้มาเฉพาะพวกหน่วยความจำประมวลผล แต่พื้นที่ก็มีการแบ่งไปให้เจ้าอื่นด้วย แต่ตัวนี้มาหมดเลย อารมณ์เหมือนไปเช่าบ้านเดียว ได้มาทั้งหลัง จะทำอะไรกับมันก็ได้ จึงเหมาะมากกับเว็บที่ต้องการ Traffic สูงๆ แต่ข้อเสียของมันก็คือ ค่าใช้จ่ายที่แพง และต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสูง ถ้าคนบริหารทำไม่ดี เว็บก็เสี่ยงกับการถูกโจมตีครับ
ในเบื้องต้น ดูง่ายๆครับ ว่า “เว็บของเรา จะมีคนเข้ามาใช้มากน้อยแค่ไหน” แล้วก็เลือกเอาตามที่ปริมาณเงินในกระเป๋ามีพอจ่ายได้ครับ
พอเรารู้ว่า Hosting มีกี่แบบแล้ว มาดูอีกครับว่ามันมีอะไรที่ต้องพิจารณา ซึ่งที่ผมจะให้ดูคร่าวๆ ก็ประมาณนี้นะครับ
- พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หมายถึง พื้นที่ที่เราจะเอาข้อมูลไปไว้ได้ เช่น 5GB เป็นต้น ถ้าเว็บเราไฟล์ใหญ่ ก็เอาพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมาครับ
- Data Transfer หมายถึง ปริมาณการถ่ายโอนข้อมูล คิดง่ายๆ ก็เหมือนการใช้ 3G ในมือถืออ่ะคับ ยกตัวอย่างเช่น เขาบอกว่า 100GB ต่อเดือน ก็หมายความว่าถ้าเว็บของเรามีคนเข้าชม (ทุกครั้งที่มีคนทำอะไรกับเว็บเรา มันจะมีการจ่ายค่า Data transfer ออกไป) จนปริมาณดาต้ามันถึง 100GB แล้ว เว็บเราก็จะเข้าไม่ได้ ต้องรอเดือนถัดไป อะไรทำนองนี้ครับ บางโฮสต์ก็จให้แบบ Unlimited ไปก็มี
- รองรับกี่ Domain Name หมายความว่า โฮสต์ที่เราจะเช่านี้ เขาให้เราเอาไปใช้ได้กี่เว็บ เช่น 1 Domain ก็หมายถึง ใช้ได้แค่เว็บเดียวนะ ถ้า 5 Domain ก็คือเอาไปใช้ได้ 5 เว็บ แล้วแต่เราว่าจะไปแบ่งพื้นที่ให้เว็บทั้งห้าได้อย่างไร
- Sub domain หมายถึง เว็บย่อยๆในเว็บของเราครับ เช่น เราจะมีเว็บองค์กร แล้วก็มีเว็บหน่วยงานย่อยลงไปอีก ซึ่งมองว่าเป็นคนละเว็บ มี url ประมาณว่า hr.mycompany.com หรือ manager.mycompany.com อะไรแบบนี้คับ อันนี้เราเรียกว่า sub domain
- Database หมายถึง จำนวนการสร้างฐานข้อมูลที่อนุญาตให้เรามี ถ้าให้สร้างได้เยอะก็โอเคครับ แต่ถ้าสร้างได้อันเดียว ก็ไม่ต้องกังวล ถ้าเว็บเราไม่ได้เยอะแยะมากมาย เพราะมันสามารถใช้ฐานข้อมูลร่วมกันได้คับ
- Email Account ก็คือการสร้างอีเมลที่ลงท้ายด้วยชื่อเว็บของเรานั่นเองครับ เช่น sale@mycompany.com อะไรแบบนี้ ก็ดูว่าเราอยากได้เมลกี่อัน แล้วเขาให้ใช้ได้กี่อันก็ว่ากันไป
- Support ข้อนี้โคตรสำคัญ ไม่ว่าจะเช่า Host แบบไหน การบริการหลังการขายนั่นจำเป็นมากๆครับ ถ้าเป็นไปได้ หาเจ้าที่บริการ 24/7 ดีกว่า เพราะเราไม่รู้หรอกว่าโฮสต์มันมีปัญหาเวลาไหน
- SSL อันนี้ถ้าเว็บเราจะเป็นเว็บที่มีเรื่องเงินๆทองๆมาเกี่ยวข้อง เช่นเว็บ Ecommerce จำเป็นมากๆที่ต้องใช้เว็บที่มีการเข้ารหัส (สังเกตจาก url มันจะเป็น https:// แบบนี้ครับ) แต่ตอนนี้เว็บทุกเว็บ ถูกบังคับกลายๆแล้วครับว่าต้องมีการใช้ SSL (Secure Sockets Layer) เพราะไม่อย่างนั้น Google จะทำการลดลำดับความสำคัญของเว็บ และจะแจ้งเตือนผู้ใช้งานว่า เป็นเว็บที่ไม่ปลอดภัยครับ
และนี่แหละครับ คือความรู้เบื้องต้นก่อนจะมีเว็บไซต์ สรุปง่ายๆก็คือ เลือกชื่อที่สื่อ และเลือกโฮสต์ตามปริมาณ Traffic ว่าเว็บของเราจะใหญ่มากน้อยแค่ไหนนั่นเองครับ ถ้าหากท่านใดมีข้อสงสัย หรืออยากจะรู้อะไรเพิ่มเติมก็แสดงความคิดเห็น สอบถาม กันได้นะครับ :)