สวัสดีครับผม เริ่มต้นบล็อกใหม่ด้วยคำทักทายแนวเดิมหวังว่าไม่เบื่อกันนะครับ ฮ่าๆ วันนี้ผมอยากเขียนบล็อกในเสนอมุมมองส่วนตัว (ย้ำว่าส่วนตัว) เกี่ยวกับการออกแบบเว็บไซต์ครับ ด้วยความที่ทำงานในวงการพัฒนาเว็บไซต์มาหลายปีดีดักแล้ว ได้เห็นเทร็นด์การออกแบบ ได้เห็นเทคโนโลยีหลายๆอย่างที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ผมเลยอยากจะแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับการออกแบบเว็บไซต์สักหน่อยครับ
[thetext]ทำไมเราถึงต้องมีเว็บไซต์?[/thetext]
นั่นสิครับ มีไว้ทำไมกัน? ทุกวันนี้พฤติกรรมของมนุษย์เริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นครับ ตื่นมาก็เช็คว่าใครมากดไลค์บ้างอะไรบ้าง ระหว่างเดินทางไปทำงาน ก็เปิดดูมือถือ ดูโน่นดูนี่ว่ากันไป ทำให้หลายๆองค์กร หลายๆคน อยากจะ “สร้างตัวตน” บนโลกออนไลน์ครับ หนึ่งในความนิยมก็คือการสร้างด้วยการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพราะมันง่าย และเราสามารถที่จะใส่ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับความเป็นเราลงไปในนั้นได้ ทีนี้พอเรามีเว็บไซต์แล้ว คำถามต่อมาก็คือ
[thetext]เราทำเว็บไซต์ไว้เพื่อใคร?[/thetext]
บางคนอาจจะทำไว้อ่านเอง เป็นไดอารี่ส่วนตัว บางทำไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาซื้อของ โดยแต่ละเว็บไซต์ก็มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่ถึงอย่างไรก็ตามครับ ไม่ว่าจะทำไว้ดูเอง หรือทำไว้ให้คนอื่นดู เว็บไซต์ของเราก็ล้วนแต่มีโอกาสที่จะเผยโฉมต่อหน้าสาธารณชน ครับ ทีนี้ถ้าหากว่าเราทำเว็บเพื่อตัวเอง โดยไม่ได้แคร์คนอื่นเราก็ไม่ต้องคิดมาก ว่าเว็บเราจะออกแบบเป็นอย่างไร ใช้งานในรูปแบบไหน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เป้าหมายของเราคือ “คนอื่น” นั่นหมายความว่า เราต้อง “คิดให้มาก” ขึ้นครับ เพราะปัจจัยที่ของการมีเว็บของเราไม่ได้มีเพียงแค่เราคนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีคนที่เราไม่รู้จักมักจี่อีกหลายคนที่จะเข้ามาดูหน้าเว็บหรือใช้งานเว็บของเรา
- จะทำเว็บแนวติสต์ๆ มากไปมันจะตอบโจทย์หรือเปล่า?
- จะออกแบบเว็บไซต์ในเลเอาท์แบบนี้ คนใช้งานง่ายหรือเปล่า?
- สีสันแบบนี้ จะส่งผลต่อคนอ่านมากน้อยเพียงใด?
- ปุ่มควรจะใหญ่หรือเล็ก?
สาระพัดคำถามครับ
[thetext]หน้าที่หลักๆของการออกแบบเว็บไซต์ คืออะไร?[/thetext]
หน้าที่หลักๆของ “การออกแบบ” ย้ำว่า “การออกแบบ” มีไว้เพื่อ “แก้ปัญหา” หรือ “ช่วยให้ผู้ใช้” ใช้งานได้อย่างถูกต้องและสะดวกสบายครับ นี่คือหน้าที่หลักของงานออกแบบเลย เช่น คุณจะทำร้านขายรองเท้า หน้าที่ของการออกแบบก็คือ ทำให้คนรู้ว่า นี่คือเว็บขายรองเท้า ถ้าอยากซื้อรองเท้า จะต้องไปกดตรงไหน อะไรยังไง พยายามออกแบบเพื่อให้คนรู้และนำมาสู่กระบวนการซื้อรองเท้าเราให้ได้ครับ
เมื่อมองในมุมมองของการออกแบบ จากเคสนี้ ก็คือ เราต้องเริ่มคิดแล้วว่า ปัญหาที่เราจะต้องคิดก็มีเยอะครับ ยกตัวอย่างเช่น
- ทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้ว่า “นี่คือเว็บขายรองเท้าออนไลน์”
- ทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อรองเท้าผ่านเว็บไซต์ได้โดยง่าย
พอเรารู้ปัญหาแล้ว เราก็มาเริ่มวิเคราะห์ครับว่า จากปัญหาเหล่านี้เราจะเริ่มแก้ไขอย่างไร อย่างเช่น ใช้ภาพรองเท้า พร้อมคำพูดประกอบเป็นแบนเนอร์ดีไหม? ใช้ปุ่ม Call to Action ให้ชัดเจน วางเมนูบนเว็บให้เห็นง่าย ลดขั้นตอนการคลิก บลาๆ
แต่ละเว็บไซต์มีรูปแบบการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นรูปแบบของเว็บไซต์ก็จะแตกต่างกันออกไปด้วยครับ
[skill2]บางคนเน้น “ตามกระแสเทคโนโลยี” มากจนเกินไป จนลืมว่าจริงๆแล้ว “เรามีเว็บไซต์” เพื่ออะไรกันแน่[/skill2]
แน่ใจหรือครับว่า การใส่ลูกเล่นทั้งหน้าเว็บ ทุกสิ่งอย่าง จะช่วยแก้ปัญหาของเราได้
มีอยู่เคสหนึ่ง ที่ผมก็ไม่เข้าใจว่ามันตอบโจทย์จริงๆหรือเปล่า คือการเอา infinity scrolling มาใช้กับเว็บไซต์ บางเว็บไซต์ใช้รูปแบบ “เลื่อนไม่รู้จบ” เพื่อนำเสนอข้อมูล โดยที่ข้อมูลแบ่งออกเป็นร้อยๆ ข้อมูล เวลาจะหาข้อมูลเก่าๆ เราเดาไม่ได้เลยว่า มันจะอยู่ตรงไหน ต้องเลื่อนตั้งแต่ต้น แล้วรอมัน Load more ไปเรื่อยๆ ถ้าอยู่ๆเน็ตหลุด ก็ต้องโหลดตั้งแต่ต้นใหม่ โดยส่วนตัวผมมองว่า มันเป็นปัญหามากกว่าทางออก ถ้าข้อมูลมีเยอะมากๆ เราควรแบ่งเป็นหน้าๆดีกว่าครับ
[thetext]ออกแบบเว็บไซต์ เพื่ออะไรกันแน่?[/thetext]
มาถึงตอนนี้ เราก็คงทราบกันแล้วว่าเราออกแบบเว็บไซต์เพื่ออะไรกันแน่… เราออกแบบเว็บไซต์เพื่อช่วยแก้ปัญหา หรือลดปัญหาให้ได้มากที่สุดครับ ทำไมเราถึงต้องเอาเมนูไว้ตรงนี้ ทำไมถึงต้องทำปุ่มใหญ่ขนาดนี้ ใช้ฟอนต์ขนาดนี้ ใช้สีนี้ ทุกอย่างควรผ่านการคิดโดยเบสออนปัญหาที่เราคาดว่าจะเจอ หรือเจออยู่แล้วและต้องการแก้ไข
เช่น เว็บไซต์สำหรับมือถือ ปัญหาคือ จอมันเล็ก แต่นิ้วคนกดมันใหญ่ ถ้าทำปุ่มลิงค์เท่ามด แถบชิดกันมาก โอกาสที่จะกดพลาด ก็ย่อมมี หรือปัญหาคือ คนถามแต่คำถามซ้ำๆ ทั้งๆที่มีอธิบายบนเว็บไซต์อยู่แล้ว ก็ต้องมาดูว่า เราออกแบบคำอธิบายไว้มองเห็นชัด หาได้ง่ายหรือเปล่า
เรื่องราวการออกแบบเว็บไซต์มีเยอะมากครับ ให้เล่าเป็นวันๆก็ไม่หมด ไว้ครั้งหน้าผมมีอะไรอยากแบ่งปันอีกกลับมาเล่าให้ฟังใหม่นะครับ
ท่านอื่นๆมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกันได้นะครับ :)